Home ธรรมะ ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม 2
เข้าถึงความเป็นพุทธะแห่งจิต PDF Print E-mail
Sunday, 20 September 2009 01:48

เข้าถึงความเป็นพุทธะแห่งจิต 


โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


          ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ว่าด้วยสัจธรรมของจริง ของจริงมีอยู่ในกาย ในใจของทุกคน สภาพความเป็นจริงของกายโดยพื้นฐานแล้ว สัตว์ทั้งหลายมีอาหารเป็นที่ตั้ง ทุกคนต้องกินอาหาร อันนี้คือความจริงอันหนึ่ง ส่วนทาง  ด้านจิตใจนั้นก็มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเป็นอาหาร แต่อาหารของจิตใจนั้นแยกออกเป็น ๒ ประเภท


          ประเภท ๑ เมื่อจิตได้ลิ้มรสอาหารแล้วทำให้จิตเดือดร้อนวุ่นวาย เกิดความทุกข์
          ประเภท ๒ เมื่อจิตได้ลิ้มรสอาหารแล้วเกิดความสุข สิ่งที่ทำให้จิตสงบเยือกเย็นมีความสุขนั้นได้แก่ธรรมะนั่นเอง


          ศาสนาของพระพุทธเจ้าเป็นศาสนาที่มีความจริง และพุทธะก็คือสัจธรรม เป็นวิสุทธิธรรม เป็นความจริงอย่างสูงสุด สัจธรรมคือความจริงนั้นย่อมไม่สังกัดในลัทธิหรือศาสนาใด แต่เมื่อใครได้ดำเนินจิตของตนเองเข้าไปสู่จิตแห่งความเป็นสัจธรรมอย่างแท้จริง หรือธาตุแท้แห่งความจริงที่มีอยู่ภายในจิตใจ สัจธรรมแห่งพุทธะอันเป็นวิสุทธิธรรมย่อมเป็นสมบัติของผู้นั้น


 

          ท่านชายสิทธัตถะทรงดำรงพระชนม์ชีพเป็นมนุษย์ โดยประสูติในตระกูลกษัตริย์ ทรงเป็นมนุษย์ธรรมดา มีกายใจเหมือนกับเราท่านทั้งหลาย ท่านสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อาศัยกายกับใจเป็นหลัก โดยเอากายและใจไปพิจารณาดูความเป็นจริงของร่างกายและทรงพบความจริงของร่างกายนั้นว่ามีอะไรบ้าง ร่างกายต้องมีอาหารเป็นที่ตั้งเพื่อความเป็นไปของร่างกาย และโดยกฎธรรมชาติย่อมมีความแตกดับ เน่าเปื่อย ผุพัง เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

 


          ผู้แสวงหาคุณธรรมเราคงเคยได้ยินคำสอนในศาสนาพุทธว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” คือ พระพุทธเจ้าสอนให้เราละความชั่ว ประพฤติความดี และก็ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ สะอาด ปัญหาก็อยู่ที่ว่า “การละความชั่วนั้น โดยสาธารณะทั่วไปได้แก่อะไร” โดยสาธารณะทั่วไป ได้แก่ การงดเว้นจากความชั่ว ๕ ประการ ซึ่งก็คือ ศีล ๕ ดังนั้น การตั้งใจกระทำความดีจึงมีศีล ๕ เป็นหลักประกัน เมื่อเรามีศีล ๕ เป็นหลักประกันความปลอดภัย ภัยเวรที่จะพึงเกิดขึ้นนั้นย่อมไม่มี ฉะนั้น ผู้ที่ตั้งใจจะละเว้นความชั่วกันอย่างจริงจัง ในเบื้องต้นขอให้มั่นคงในการยึดศีล ๕ เป็นหลัก ศีล ๕ นี้ ผู้บัญญัติมุ่งหมายที่จะป้องกันที่จะไม่ให้มนุษย์ต้องฆ่ากัน ปาณาติบาต บ่งถึงเจตนาที่จะฆ่าโดยตรง สิ่งที่สนับสนุนปาณาติบาต เช่น อทินนาทาน คือการลักขโมย โดยปกติแล้วคนที่มีข้าวของเขาต้องมีความรักหวงแหนทรัพย์สมบัติ ถ้าเราไปขโมยของเขา เขาโกรธเขาก็ฆ่าเอา กาเมสุมิจฉาจาร ไปละเมิดสิทธิของท่าน ท่านโกรธ ท่านก็ฆ่าเอา มุสาวาท พูดปดมดเท็จ กล่าวส่อเสียด ยุยง หรือพูดคำหยาบให้ท่านได้รับความเสียหาย ท่านโกรธท่านก็ฆ่าเอา สุรา ดื่มเข้าไปแล้วมึนเมา คุมสติไม่อยู่ เกิดทะเลาะวิวาทกัน ในที่สุดก็ต้องฆ่ากัน เพราะฉะนั้น เหตุผลในการบัญญัติศีล ๕ เอาไว้เป็นหลักในการปฏิบัตินั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์ฆ่ากันโดยตรง

 หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


          นอกจากเราจะมีศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว เพื่อเป็นการปลูกฝังคุณธรรมให้มีความมั่นคงอยู่ภายในจิตใจไม่เสื่อมคลาย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้พร่ำสอนให้บำเพ็ญสมาธิภาวนาเป็นหลัก แต่การบำเพ็ญสมาธิภาวนา ท่านทั้งหลายได้เคยฟังและได้ปฏิบัติมามากแล้ว จึงไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้ แต่จะขอย้ำเตือนว่า การประพฤติดี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบนั้นอยู่ที่ความตั้งใจจริง จะปฏิบัติแบบไหน อย่างไร ขอให้ยึดในสิ่งนั้นจริงๆ เช่นอย่างท่านจะบำเพ็ญกัมมัฏฐาน หรือจะภาวนาพุทโธหรืออะไรก็ตาม ท่านอาจจะนึกในใจว่าจะนั่งสมาธิให้ได้วันละ ๓ ครั้ง ครั้งละ ๑ ชั่วโมง แล้วตั้งใจอย่างจริงจังแน่วแน่ลงไป บริกรรมภาวนาพุทโธๆๆไว้ ให้จิตอยู่กับพุทโธแน่วแน่ไม่พรากจากไป แม้ว่าจิตจะไม่มีอาการสงบก็ตาม เมื่อเรานึกพุทโธๆๆ ติดต่อกันไม่ขาดสาย พุทโธนั่นแหละจะเป็นสิ่งกางกั้นไม่ให้เราส่งกระแสจิตออกไปสร้างบาปสร้างกรรมที่อื่น อีกอย่างหนึ่ง พุทโธ จะเป็นที่พึ่งของจิต จะเป็นวิหารธรรม ในเมื่อเรานึกพุทโธจนชำนิชำนาญ จนจิตติดอยู่กับพุทโธ ในบางครั้งเราอาจไม่ตั้งใจว่า แต่จิตจะนึกพุทโธเองโดยไม่ตั้งใจ จนกลายเป็นอัตโนมัติ เมื่อเป็นเช่นนั้น บางครั้งเราพบอุบัติเหตุสำคัญ จิตของเราจะวิ่งเข้าสู่พุทโธโดยไม่ตั้งใจ เมื่อจิตเข้าถึงพุทโธจิตก็มีที่พึ่ง พุทโธเป็นที่พึ่งที่ระลึกของจิต เป็นคุณสมบัติของความเป็นพุทธะ

 


          ความเป็นพุทธะสามารถเป็นได้กับทุกคน ถ้าเราคิดว่าพุทธะคือผู้รู้เป็นได้เฉพาะแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้วพุทธะย่อมสาบสูญไป แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ แม้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว ธาตุแท้ของความเป็นพุทธะยังสถิตอยู่ในจิตใจของเราทุกคน พุทธะคือวิสุทธิธรรม พุทธะที่เป็นวิสุทธิธรรมย่อมเป็นสิ่งรับรอง นักปฏิบัติทุกท่านย่อมสามารถที่จะเหนี่ยวเอาคุณสมบัติอันนี้เข้าไปอยู่ในจิตใจของตนเองได้ ถึงความบริสุทธิ์สะอาด และเข้าถึงความเป็นพุทธะอย่างแท้จริง

 


          การเกิดขึ้นของสมาธิจิต จะเกิดขึ้นตามสภาวะของจิต ไม่มีอำนาจอื่นใดมาบังคับให้เกิด ความรู้ไม่มีอะไรมาบังคับให้รู้ อาการรู้จะเป็นไปโดยลำพังของจิตเอง หลักการมีอยู่ว่า ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต ผู้ปรารถนาที่จะเว้นความชั่ว ประพฤติดี ให้ยึดมั่นอยู่ในหลักศีล ๕ ข้อ คือ
          ๑. ห้ามฆ่าสัตว์
          ๒. ห้ามลักขโมย
          ๓. ห้ามผิดประเวณี
          ๔. ห้ามพูดปดมดเท็จ
          ๕. ห้ามดื่มของมึนเมา

 


          การกระทำบาปทุกอย่าง แม้ว่าจะทำให้จิตเศร้าหมอง หรือเป็นผลบาปผลกรรม แต่ก็ไม่ร้ายแรงเท่าการละเมิดศีล ๕ ผู้ตั้งใจสมาทานศีล ๕ สังวรระวังรักษาอยู่ในศีล ๕ ได้ชื่อว่าเป็นการตัดผลเพิ่มของบาปกรรม บาปกรรมที่จะทำให้ผู้กระทำไปตกนรกนั้น มีเพียงการละเมิดศีล ๕ ข้อเท่านั้น บาปกรรมอื่นๆ จะมีบ้างก็มีแค่ทำความหมองใจ ไม่ถึงกับยังผลให้ผู้ทำไปตกนรก ผู้ใดมีเจตนาแน่วแน่ว่าจะรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์สะอาดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ก็จะเป็นการตัดผลเพิ่มของบาปกรรม เราเคยทำบาปกรรมอันใดไว้แต่ในอดีต เมื่อมาบำเพ็ญศีล ๕ ก็เป็นอันว่ายุติกันเพียงแค่นี้ ในอดีตชาติมีบาปกรรมอยู่เท่าใดมันก็มีอยู่เพียงเท่านั้น เมื่อเรามีศีล ๕ แล้วผลเพิ่มย่อมไม่มี และศีล ๕ นี่แหละเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ ผู้ภาวนาจะสำเร็จมรรคผลนิพพานก็ต้องอาศัยศีลเป็นหลักสำคัญ สมาธิที่ไม่มีศีลก็สามารถจะทำจิตให้เป็นสมาธิได้ แต่ไม่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน สมาธิที่จะยังผู้ปฏิบัติให้สำเร็จมรรคผลนิพพานขึ้นต้นด้วยการมีศีล ๕

 


          ถ้าหากไม่มีความจำเป็นอย่าไปสมาทานศีลให้เพิ่มมากขึ้น ศีลที่ว่าจะเป็นบาปเป็นกรรมกันจริงๆ คือศีล ๕ ข้อ ส่วนใหญ่เราสมัครใจอยากจะมีศีล ๒ ชั้น และเพิ่มอีก ๓ ข้อข้างท้าย (ศีล ๘) แต่เมื่อสมาทานแล้ว เรารักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ไม่ได้ มันก็เป็นการสร้างบาปสร้างกรรมให้กับตัวเองโดยไม่มีเหตุผล คฤหัสถ์ผู้มั่นในศีล ๕ รับประทานข้าวเย็นได้ ตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับต่างๆก็ได้ ประดับด้วยของหอม เครื่องย้อม เครื่องทาก็ได้ จะฟังขับร้องประโคมดนตรีหรือตนเองจะประโคมเองก็ได้ไม่ผิดศีล แต่ถ้าเราไปสมาทาน ๓ ข้อข้างปลายและรักษาไม่ได้ก็เป็นการสร้างบาปให้แก่ตัวเอง ขอให้ท่านทั้งหลายจงทำความเข้าใจอย่างนี้ ในเมื่อเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ศีล ๘ ก็ดี ศีล ๑๐ ก็ดี ศีล ๒๒๗ ก็ดี จะเพิ่มขึ้นเองโดยอัตโนมัติโดยเราไม่ตั้งใจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มุ่งจะละชั่ว ประพฤติดี ต้องตั้งใจให้มั่นคงอยู่ที่ศีล ๕ ข้อ

 


          ความดีที่จะเป็นที่พึ่งอย่างแน่นอนก็คือการทำสมาธิ การปฏิบัติสมาธิเป็นหลักการทำจิตให้มั่นคง คือมั่นคงในการบุญการกุศล เมื่อสมาธิมีแล้วปัญญาย่อมเกิดขึ้นเอง ถ้าท่านผู้ใดตั้งใจแน่วแน่ลงไปว่าจะภาวนาพุทโธๆๆให้ได้วันละ ๓ ครั้ง ครั้งละ ๑ ชั่วโมง แล้วก็ตั้งใจทำไป จิตจะสงบก็ตาม ไม่สงบก็ตาม อดทนทำไปเรื่อยๆ ตั้งใจจริงแล้วผลย่อมจะเกิดขึ้นมาเอง จิตเป็นสมาธิดีแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าวิปัสสนากัมมัฏฐานจะไม่เกิด   ขอให้มีสมาธิคือสมถะอย่างเดียวเป็นพอ เพราะ สมาธิทำให้เกิดปัญญา ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต เพราะฉะนั้น เมื่อมีศีลบริสุทธิ์จิตก็สงบเป็นสมาธิเอง ถ้ามีสมาธิดีแล้วปัญญาก็ย่อมเกิดขึ้นเอง ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว จิตย่อมรู้ทันเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก จิตก็จะมีความบริสุทธิ์สะอาดขึ้นเอง มีสติปัญญาเฉียบแหลมว่องไวเท่าใด จิตก็ย่อมจะใสสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น จิตจะรู้เท่าทันเหตุการณ์ทั้งภายนอกและภายใน นี่คือหลักการปฏิบัติในเบื้องต้น

 


          บัดนี้เราได้มีโอกาสมาพบกันในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัทด้วยกัน เรามีพระพุทธศาสนาเป็นหลักธรรมประจำจิตใจ เมื่อเราไหว้พระ เราอ้างถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ โดยยึดถือว่าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ก็ขอทำความเข้าใจกับท่านทั้งหลายก่อน บางท่านอาจจะสงสัยว่าพระพุทธเจ้าคืออะไร อยู่ที่ไหน พระธรรมคืออะไร อยู่ที่ไหน และพระสงฆ์คืออะไร อยู่ที่ไหน ที่เราไหว้พระกันทุกวันนี้ เราอาจนึกว่า พระพุทธเจ้าคือพระพุทธรูป พระธรรมคือคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็นึกไปถึงพระคัมภีร์ที่อยู่ในตู้ในวัด พระสงฆ์ก็คือลูกหลานของชาวบ้านที่สละเพศฆราวาสออกบวช อาจจะคิดไปอย่างนั้น ถ้าหากเราคิดเช่นนั้น เราก็จะเข้าใจว่า พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ห่างตัวเรา พึงทำความเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี อยู่ที่จิตใจของเราเอง อยู่ที่ใจของเราทุกๆคน

 Peaceful Forest


          คำว่า ”พระพุทธเจ้า” มาจากคำบาลีว่า “พุทโธ” แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คำว่ารู้นี้ รู้ยิ่ง ซึ่งเราจะนึกได้ทันทีว่าเป็นกิริยาของใจ ฉะนั้น คำว่า “พุทโธ” คือพระพุทธเจ้า แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จึงเป็นกิริยาของใจ เราจึงมีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจกันทุกคน เมื่อเรารู้ว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจของเรา เราก็รู้ได้ทันทีว่าพระพุทธเจ้าคืออะไร โดยธรรมชาติ จิตเป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ถ้าจิตดวงนี้รู้เฉยๆ มันก็ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ท่านจะเชื่อก็ตามไม่เชื่อก็ตาม แต่ขอบอกท่านว่ากายกับใจเป็นคนละอย่าง กายได้แก่รูปร่างที่เรามีกันอยู่ทุกคน ใจก็คือความรู้สึกนึกคิดที่มีกันอยู่โดยทั่วไป ทั้ง ๒ อย่างนี้เมื่อมันมาประกอบกันเข้าเมื่อใด เราก็มีกายกับใจขึ้นมาเมื่อนั้น แต่ใจดวงนี้ไม่มีตัวตน เป็นธาตุรู้ เมื่อมันมาประกอบกับกายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ใจหามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ ตาเป็นเครื่องมือของใจ หูเป็นเครื่องมือของใจ สิ่งที่เรารู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นผู้จดจำเอาไว้ เมื่อใจของเราคือธาตุแท้แห่งพุทธะคือผู้รู้ เพื่อให้เกิดความเป็นพุทธะโดยสมบูรณ์ เราจึงจำเป็นต้องฝึกหัดจิตของเราให้มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี จิตหรือมโนธาตุเป็นแต่เพียงธาตุรู้เฉยๆ จึงไม่รู้จักดี ไม่รู้จักชั่ว และมันก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้นเพราะมันไม่มีตัว แต่เมื่อเกิดมีตัวขึ้นมาแล้ว มันก็มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และตา หู จมูก ลิ้น กายนี่เองเป็นเครื่องมือของใจ เพราะฉะนั้น ทั้ง ๒ อย่างนี้คือกายกับใจประกอบกันเข้า มีรูปร่างหน้าตาเหมือนอย่างพวกเรานี้ และเรียกกันมาว่า มนุษย์ โดยสัญชาติของมนุษย์ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์นั้น เราถือกันว่ามนุษย์มีใจสูง เมื่อมนุษย์มีใจสูง ทุกสิ่งทุกอย่างเราต้องพยายามทำให้มันมีระเบียบ มีกฎเกณฑ์ เพราะฉะนั้น ใครก็ตามเมื่อมีสภาวะรู้ ตื่น เบิกบานอยู่ในจิต และก็มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่ในจิตในใจความรู้สึกของตัวเอง ผู้นั้นได้ชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ เพราะพุทธะแปลว่าผู้รู้ เป็นกริยาของใจ ใครก็ตามที่ทรงความดีเอาไว้โดยพยายามให้มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี มีสติสัมปชัญญะ รู้สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดไม่ควร สิ่งใดควร รู้สึกสำนึกอยู่อย่างนี้ได้ชื่อว่า เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระธรรม กิริยาที่สังวรระวังและรำลึกอยู่เสมอว่า เราจะละชั่วเราจะทำแต่ความดี เราจะทำใจให้บริสุทธิ์ สะอาด ความตั้งใจหรือความรู้สึกสำนึกอย่างนี้คือคุณของความเป็นพระสงฆ์

 

 


          ฉะนั้น ปัญหาที่ว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์คืออะไร และพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ที่ไหน ก็พอที่จะเข้าใจและสรุปได้แน่ชัดว่าอยู่ที่จิตที่ใจของเรานั่นเอง


          หากท่านคิดว่าพระพุทธเจ้าคือพระพุทธรูป   เมื่อท่านกราบลงไปก็ถูกแต่อิฐแต่ปูน หากคิดว่าพระธรรมก็คือคัมภีร์ เมื่อกราบลงไปก็ถูกแต่ตู้กับใบลาน และถ้าคิดว่าพระสงฆ์อยู่วัด กราบไหว้ลงไปก็ถูกแต่ลูกหลานชาวบ้าน เราท่านทั้งหลายจงทำความเข้าใจว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ อยู่ที่ใจและเกี่ยวเนื่องกับเราทุกลมหายใจ

 


          การที่เราน้อมเอาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ มาเป็นสรณะที่พึ่งเราต้องพยายามปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ คืออะไร หน้าที่ของความเป็นลูก เราคงเคยได้ฟังว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างโลกสร้างมนุษย์ พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกสร้างมนุษย์ แต่เราจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม โลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ จะเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงก็เพราะน้ำมือของมนุษย์ สิ่งก่อสร้างทั้งหลายที่เราเห็นอยู่ มนุษย์เป็นผู้สร้างทั้งนั้น ไม่ใช่พระพรหมหรือพระเจ้าเป็นผู้สร้าง มนุษย์สร้างมนุษย์ มนุษย์สร้างพระพรหม มนุษย์สร้างพระผู้เป็นเจ้า แม้แต่พระพุทธเจ้ามนุษย์ก็สร้าง


          ๑. มนุษย์สร้างมนุษย์อย่างไรนั้นจะไม่ขอกล่าวถึง ให้นึกถึงพระคุณของคุณพ่อคุณแม่ที่สร้างเรามา
          ๒. มนุษย์สร้างพระพรหม เรามองเห็นได้ง่ายที่สุด บิดามารดาเป็นพระพรหมของลูก เพราะบิดามารดามีคุณธรรม คือ เมตตาความรักใคร่ปรารถนา กรุณาความสงสารคิดหาหนทางให้พ้นทุกข์ มุทิตาความพลอยยินดีเมื่อลูกเจริญเติบโตมีวิชาความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ อุเบกขาความวางใจได้เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างของลูกพร้อมแล้ว ทั้งหลายนี้นี่แหละคือพระพรหมของลูก


          ก็แล้วมนุษย์สร้างพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร มนุษย์สร้างพระพรหมได้อย่างไร มนุษย์สร้างพระพุทธเจ้าได้อย่างไร มนุษย์สร้างพระอรหันต์ได้อย่างไร มนุษย์สร้างเทวดาได้อย่างไร


         พูดถึงมนุษย์สร้างเทวดาก่อน ในคัมภีร์ที่เคยเล่าเรียนมา พอที่จะยกมาเป็นนิยายประกอบ ในกาลครั้งหนึ่ง ขณะอุบาสก อุบาสิกาถือดอกไม้ธูปเทียนจะไปบูชาพระสถูปอันเป็นที่บรรจุพระอัฐิพระพุทธเจ้า ในขณะนั้นมีหญิงสาวคนหนึ่งเห็นผู้เฒ่าผู้แก่ถือดอกไม้อยู่ในมือจึงไต่ถามและได้ความว่าเขาจะไปบูชาพระพุทธเจ้า จึงเกิดความเลื่อมใสและขอตามไปด้วยคน ในขณะนั้นนางเหลือบไปเห็นดอกบวบโผล่อยู่ ๔ ดอก จึงวิ่งไปเด็ดดอกบวบ ๔ ดอกนั้นมา กว่านางจะเด็ดดอกบวบได้ก็เสียเวลาไปหลายนาที คนเฒ่าคนแก่เขาก็เดินไปไกลแล้ว นางก็วิ่งตามไปให้ทันคนแก่ แต่ไม่ได้พิจารณาอันตรายที่จะเกิดขึ้นในระหว่างทาง ในขณะนั้นโคที่ปล่อยอยู่ก็วิ่งมาขวิดนางตายไปในกลางทาง แต่จิตใจของนางขณะนั้นมุ่งตรงพระสถูปด้วยความเลื่อมใส ครั้นตายแล้ว ตำนานกล่าวว่านางไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ มีวิมานทองสูงถึง ๑๒ โยชน์ มีเครื่องประดับตกแต่งล้วนแต่เป็นทองเหลืองอร่าม อยู่มาภายหลังท่านโมคคัลลาน์ไปเที่ยวแล้วไปเห็นนางนั่งอยู่ในวิมานจึงเข้าไปถามว่า “นางทำบุญอะไรจึงได้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่ในวิมานอันสวยงามใหญ่โตเช่นนี้” นางก็อิดเอื้อนไม่อยากบอก เพราะนางได้ทำบุญเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่แล้วก็ทนความคะยั้นคะยอของพระโมคคัลลาน์ไม่ได้ จึงบอกความจริงว่าเอาดอกบวบไปบูชาพระสถูปอัฐิของพระพุทธองค์ ตายแล้วจึงได้มาเกิดเป็นเทวดา นี้ก็เป็นหลักฐานอันหนึ่งที่มนุษย์สร้างเทวดา

 


          มนุษย์สร้างพระพรหมอย่างไร มนุษย์สร้างพระพรหมต้องอาศัยการปฏิบัติ โดยการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน อย่างเราที่นั่งฟังเทศน์กันอยู่นี่ ตั้งจิตบริกรรมภาวนา พุทโธๆๆอยู่ตลอดเวลาจนทำจิตให้เกิดมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา มีความสงบเยือกเย็น มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิสว่างไสว รู้อยู่เฉพาะที่จิต ตายไปในภูมิรู้นั้นไปเกิดเป็นพระพรหม รวมความแล้ว ผู้ภาวนาทำจิตให้เป็นสมาธิ บรรลุฌานขั้นที่ ๑-๒-๓-๔ ตายไปในฌาน ๔ ขั้นนี้ก็จะไปเกิดเป็นองค์พระพรหม คือพรหมที่มีรูปร่าง นี่คือมนุษย์สร้างพระพรหมขึ้นมา ทีนี้ถ้ามีภูมิจิตละเอียดขึ้นไปกว่านั้น สามารถทำจิตให้บรรลุฌานขั้นที่ ๕-๖-๗-๘ ได้สมาบัติ ๘ ถ้าตายไปในฌานสมาบัติ ก็จะไปเกิดเป็นพรหมไม่มีรูปเรียกว่าอรูปพรหม นี่มนุษย์สร้างพระพรหมขึ้นมา

 


          มนุษย์สร้างพระพุทธเจ้าอย่างไร ขอพูดอย่างภาษาชาวบ้านว่า ตามพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าเดิมชื่อท่านชายสิทธัตถะ เป็นลูกชายของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา เจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ในประเทศอินเดีย พระพุทธเจ้าเป็นเชื้อสายของมนุษย์โดยตรง ต่างจากผู้อื่นตรงที่เกิดในตระกูลกษัตริย์ เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษาก็ออกบวชแล้วบำเพ็ญจิตตภาวนา ตรัสรู้อริยสัจธรรมทั้งสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า นี้มนุษย์สร้างพระพุทธเจ้า

 


          เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ได้ไปเทศน์ให้ท่านโกณฑัญญะซึ่งเป็นหัวหน้าภิกษุเบญจวัคคีย์ฟัง ผลสุดท้ายภิกษุเบญจวัคคีย์ก็ได้สำเร็จเป็นอรหันต์และบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้า ท่านทั้งห้าได้สร้างพระอรหันต์ขึ้น

 


          ฉะนั้น การเกิดเป็นมนุษย์นี้สุดวิเศษ อย่าดูถูกความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ปัญหาอยู่ที่ว่ามนุษย์นึกถึงศักดิ์ศรีของตัวเองหรือเปล่า เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาว่าเราเกิดเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์หรือไม่ มนุษย์เรานี้เป็นได้ทั้งพระพุทธเจ้า เป็นได้ทั้งพระพรหมเทวดา สัตว์ แม้แต่เปรตก็เป็นได้


Perinet Reserve, Madagascar

          มนุษย์โดยสมบูรณ์นั้น ได้แก่ มนุสสมนุสโส คือกายเป็นมนุษย์จิตใจก็เป็นมนุษย์ด้วย ในขณะใดที่มีศีลธรรม มีความโอบอ้อมอารี มีความรักใคร่ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่คิดที่จะข่มเหงรังแกใคร ในขณะนั้นกายเป็นมนุษย์ จิตใจก็เป็นมนุษย์ เรียกว่ามนุสสมนุสโส

 


          ขณะใดที่มีจิตใจเหี้ยมโหด เกิดโมโหโกรธาขึ้นมาแล้วคิดจะฆ่าจะแกงเบียดเบียนโดยไม่คำนึงถึงกฎหมายและศีลธรรม โกรธขึ้นมาครั้งใดก็ต้องทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเจ็บแค้น อยากได้อะไรจะลักขโมยเอา ลูกเมียใครก็ไม่ละเว้น พูดจาโกหกมดเท็จส่อเสียดดื่มของมึนเมาเป็นนิสัย แสดงว่าในขณะนั้นกายเป็นมนุษย์แต่จิตใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะสัตว์เดรัจฉานมันไม่มีกฎหมายไม่มีศีลธรรม หากในจิตใจยังห่วงกฎหมายห่วงศีลธรรมอยู่ ยังเป็นมนุษย์สมบูรณ์ ถ้าไม่มีกฎหมาย ศีลธรรม ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆในจิตใจ จะเป็นมนุษย์แต่ร่าง แต่จิตใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน นี้คือเครื่องวัดความเป็นมนุษย์

 

          อีกพวกหนึ่งนั้น ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่จิตใจเป็นเปรต จะเป็นคนขี้เกียจขี้คร้านไม่สนใจในการทำงาน ใครจะทำอะไรช่างใคร ฉันหลบได้หลบเอา ไม่มีความรับผิดชอบแม้ว่าร่างกายเป็นมนุษย์ แต่จิตใจเป็นเปรต


 

          มนุสสเทโว เป็นมนุษย์อยู่ในระดับ ๔ ถือว่าเป็นมนุษย์อยู่ในระดับพิเศษพอสมควร ร่างกายเป็นมนุษย์แต่จิตใจเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม คือมีความละอายแก่ใจ มีความสะดุ้งกลัวต่อบาป ไม่กล้าทำความชั่วทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ไม่ว่าคนจะเห็นก็ตามไม่เห็นก็ตาม ใครรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม อันนี้เรียกว่ามีคุณธรรมความเป็นเทวดา ผู้ใดมีคุณธรรมนี้แม้ร่างกายจะเป็นมนุษย์ จิตใจก็เป็นเทวดา นี้คือเครื่องวัดกิเลสของมนุษย์


          เราเป็นพุทธบริษัท เรามีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ผู้ที่มุ่งจะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่โดยสาธารณะทั่วไปเรียกว่าไม่อยากทำบาปนั้น มีหลักการทั่วไปที่หนีหลักศีล ๕ ไปไม่ได้ ศีล ๕ ที่นักปราชญ์ได้ชักชวนให้เราปฏิบัตินั้น เพื่อป้องกันมิให้มนุษย์ฆ่ากันโดยเฉพาะ ไม่ถึงกับห้ามฆ่าสัตว์เดรัจฉานด้วย


 


 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner