Home อย่างไร คือ การพัฒนาจิต
สมถกรรมฐาน PDF Print E-mail
Monday, 01 November 2010 10:08

สมถกรรมฐาน
โดย
พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑

 


          ผมรู้สึกมีความยินดีที่ได้มาร่วมเป็นสหธรรมิกกับท่านทั้งหลายในสถานที่นี้ ความจริงเราก็เป็นสหธรรมิกกันมานานแล้ว และบางท่านก็ได้เคยพบหน้าค่าตากัน บางท่านก็ยังไม่ได้พบกัน ในเมื่อได้มาพบกันเข้าเช่นนี้ก็รู้สึกว่ามีความปลาบปลื้มยินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมาของบรรดาท่านทั้งหลาย มีความมุ่งหวังที่จะฝึกฝนอบรมพระกรรมฐาน หาวิธีเจริญภาวนา เพราะเห็นว่า เป็นประโยชน์มาก ความจริงผมตั้งใจจะมาตั้งแต่วันที่ ๑๔ (เมษายน) แต่บังเอิญไปธุระที่อุบลราชธานี ขากลับมา ก่อนจะถึงนครราชสีมา ยังเหลืออยู่เพียง ๑๓ กิโลเมตรเท่านั้น มันบังเอิญเกิดอุปัทวเหตุรถคว่ำลงไป ๓ พลิก แต่เดชะ บุญบารมีของท่านทั้งหลาย ตามไปคุ้มครอง จึงไม่มีใครเป็นอะไร ตัวเองก็เพียงแต่ว่าช้ำบวมไปนิดหน่อย แต่ว่ารถยนต์พังเสียหายยับเยิน ก็นับว่าเป็นบุญที่ได้มีชีวิตรอดมา ได้มีโอกาสมาร่วมสุขร่วมทุกข์ กับบรรดาท่านทั้งหลายอีกวาระหนึ่ง

          ผมจะไม่ขอกล่าวอะไรให้ยืดเยื้อ เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าท่านมาศึกษาอบรมพระกรรมฐาน แต่ความจริงท่านทั้งหลาย ก็ได้ศึกษาอบรมมามากต่อมากแล้ว หลักการและวิธีการ เกี่ยวกับการอบรมพระกรรมฐานนั้น เข้าใจว่าท่านทั้งหลายคงทราบดีอยู่แล้ว จึงไม่ขอนำมากล่าว จะกล่าวเฉพาะหลักการอบรมพระกรรมฐาน หรือขั้นแห่งการอบรมพระกรรมฐาน ตามลำดับ  ที่โบราณาจารย์ ท่านแบ่งไว้ เป็น ๒ ขั้น คือ:-


          ๑) สมถกรรมฐาน - กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ
          ๒) วิปัสสนากรรมฐาน - กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา


          อันนี้ ท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่แล้ว วันนี้จะกล่าวเฉพาะแต่เรื่องสมถกรรมฐานอย่างเดียว เราอบรมกรรมฐาน เพื่อมุ่งให้จิตสงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ประโยชน์ก็เพื่อกำจัด นิวรณธรรม ๕ ประการ อันเป็นอุปสรรคของการบำเพ็ญกรรมฐาน นิวรณ์ ๕ ประการมีอะไรบ้าง ท่านทั้งหลายก็ทราบกันอยู่แล้ว ผมจะไม่ขอกล่าว จะกล่าวแต่เพียงว่านิวรณ์ ๕ ประการนั้นเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติพระกรรมฐาน เพราะนิวรณ์ทั้งห้านั้น มันเป็นกิเลสชนิดหนึ่งซึ่งคอยตัดทอน หรือกางกั้นคุณงามความดี ไม่ให้เกิดขึ้น แก่ผู้ที่อบรมพระกรรมฐาน เช่น กามฉันทะ ความกำหนัดยินดีในกาม ในเมื่อมันเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจของนักปฏิบัติแล้ว จะทำให้รู้สึกดิ้นรนกระวนกระวาย ทำให้จิตฟุ้งซ่าน ไม่เป็นอันที่จะบริกรรมภาวนา และนิวรณ์ข้ออื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน ล้วนแต่เป็นอุปสรรคของการบำเพ็ญเพียรภาวนาทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องบำเพ็ญสมถกรรมฐาน เพื่อทำให้จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เพราะอำนาจของสมาธิขั้นสมถกรรมฐานนั้น มีแรงผลักดันนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการนี้ให้หลุดพ้นไปจากจิตชั่วขณะหนึ่ง อันจะเป็นโอกาสให้เราได้ตั้งหน้าตั้งตากำหนดจิตบริกรรมภาวนา เพื่อความสงบตั้งมั่นของจิต จนกระทั่งบรรลุถึงสมาธิขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย คือ อัปปนาสมาธิ

 


          ทีนี้ อุบายของสมถกรรมฐานนั้น ตามตำรับตำราท่านก็กล่าวไว้มากมายถึง ๔๐ ประการ กรรมฐานทั้ง ๔๐ ประการนั้น เป็นอุบาย หรือเป็นเหยื่อล่อใจให้อยู่ในสิ่ง ๆ หนึ่ง จะเป็นอะไรก็ตามซึ่งเป็นคำพูดเกี่ยวกับธรรมะ เช่น พุทโธ เป็นต้น โดยปกตินั้น เราทุกคน นับตั้งแต่เกิดมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เราอาจจะไม่ได้ควบคุมความนึกคิด หรืออารมณ์ของเรา เรามักจะปล่อยจิต ให้เป็นไปตาม  อำเภอใจ คือ ปราศจากความควบคุม ถึงจะมีการควบคุมเป็นบางครั้งบางขณะ แต่เราก็ปล่อยจิตของเรา ให้เป็นไปในอารมณ์หลายเรื่องหลายอย่าง ซึ่งเหลือที่จะประมาณ อุบายการบำเพ็ญสมถกรรมฐาน จึงเป็นอุบายที่จะตะล่อมจิตซึ่งส่ายแส่อยู่กับเรื่องราวต่าง ๆ ให้ไปรวมจุดในสิ่ง ๆ เดียวซึ่งเป็นคำบริกรรมภาวนา และกรรมฐานที่เนื่องด้วยบริกรรมภาวนานั้น ท่านเรียกว่า สมถกรรมฐาน

 


          ทีนี้ ในสมัยปัจจุบัน สำนักปฏิบัติพระกรรมฐานมีมากหลาย และท่านอาจารย์ผู้ให้การอบรมกรรมฐาน ต่างก็ให้การอบรม ไปตามความรู้ความเข้าใจของตน บางทีลัทธิ การปฏิบัติพระกรรมฐานก็เกิดขัดกันขึ้นในตัว ผมต้องขออภัยท่านทั้งหลาย ที่จะนำเรื่องราวนี้มากล่าว เท่าที่ได้สังเกตกันมา ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เนื่องจากลัทธิปฏิบัติอบรมพระกรรมฐานมีหลายอย่าง และต่างองค์ก็ต่างได้รับการอบรมมาต่างสำนัก ต่างครู ต่างอาจารย์ มติและความเข้าใจในเรื่องกรรมฐานจึงมีความแตกต่างกัน อันนั้นเราอาจจะไปยึดหลักในคัมภีร์หรือตำรับตำรามากเกินไป แต่ถ้าหากเราจะเอาปรากฏการณ์ หรือผล ซึ่งเกิดขึ้น จากการอบรมนั้น มาเปรียบเทียบกัน ย่อมจะลงสู่จุดเดียวกัน ที่ว่าลงสู่จุดเดียวกันนั้น เรามีวิถีทางทางดำเนินจิต ตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายที่จิตสงบเป็นสมาธิ

 


          เราเริ่มต้นด้วย วิตก คือ นึกถึงอารมณ์ที่จะบริกรรมภาวนา วิจาร ความที่จิตจดจ่อต่ออารมณ์บริกรรมภาวนานั้น จนกระทั่ง จิตมีความซาบซึ้งถึงสิ่งที่บริกรรมภาวนา แล้วก็เกิด ปีติ ในเมื่อเกิดปีติ ความสุข อันเป็นผลพลอยได้ก็ย่อมตามหลังมา เมื่อปีติกับสุขอันเป็นอาหารของใจเกิด ใจก็มีความสุข ความสงบ เบากาย เบาใจ และความฟุ้งซ่านวุ่นวายภายในจิตในใจก็หายไป จิตก็มุ่งต่อความสงบเป็นระยะไปตามขั้น จนกระทั่งปีติและสุขรวมลงสู่ความเป็นหนึ่งเรียกว่า เอกัคคตา

 


          สภาวะจิตของผู้บำเพ็ญสมถะนั้น ในเมื่อเราเอาผลที่เกิดขึ้นภายในจิตมาเปรียบเทียบกันแล้ว เราจะไม่มีอะไรที่จะขัดแย้งกัน บางที อาจารย์บางท่าน อาจจะยังไม่เข้าใจในความเป็นของจิตโดยธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นจากการภาวนา แต่อาศัยเพียงแต่ตำรับตำราเท่านั้น แล้วก็อบรมสั่งสอนกันไป ซึ่งตัวเองอาจจะยังไม่เคยผ่าน เคยพบความที่จิตเป็นสมาธิไปจนกระทั่งถึงขั้นอัปปนา

 

          ขอยกตัวอย่างซึ่งเคยได้พบสนทนากันกับพระครูพิบูลย์สมาธิวัตร ซึ่งท่านอยู่ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านออกปฏิบัติกรรมฐานในคราวแรกนั้น ไปศึกษาอยู่ในสำนักของท่านอาจารย์เสาร์ (กันตสีโล) ท่านอาจารย์เสาร์ก็สอน ให้ภาวนาบริกรรมว่า พุทโธ ภายหลังจากได้ทำความพยายามอย่างเต็มที่แล้ว จิตก็สงบวูบลง แล้วก็เกิดสว่างโร่ขึ้น ทีนี้ ภายหลัง ท่านไปฝึกหัด ในสายกรรมฐานหนอ คือ ยุบหนอ พองหนอ ท่านก็บอกว่า ในเมื่อไปกำหนดจิตนึก ยุบหนอ พองหนอ ๆ จิตก็สงบลงวูบ แล้วก็เกิดสว่างโร่ขึ้น ท่านว่าอย่างนี้ ในเมื่อผมได้ฟังแล้ว ผมก็พิจารณาว่า กรรมฐานพุทโธ ก็ดี กรรมฐานหนอก็ดี มันก็บริกรรมภาวนา ด้วยกันนั้นแหละ ที่ว่าบริกรรมภาวนา ก็เพราะเหตุว่าความเป็นของจิตโดยความเป็นจริงมันมีลักษณะอย่างเดียวกัน

 


          มิใช่แต่เท่านั้น ใครจะบริกรรมภาวนากรรมฐานบทไหน อย่างไรจะเป็น พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือ มรณัง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็แล้วแต่เมื่อสภาวะจิตสงบลงสู่ความเป็นสมาธิ หรือเป็นสมาธิแล้วนั้น ย่อมมีลักษณะอย่างเดียวกันหมด คือไม่หนีจากหลักที่ว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ซึ่งเป็นองค์ตำรับตำรา ที่ท่านทั้งหลายได้เคยศึกษามาแล้ว เพราะฉะนั้น เราอย่าเอาตำรามาคัดค้านกัน เอาสภาพความเป็นจริง ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ตามความเป็นจริงมาเปรียบเทียบกัน เราจึงจะลงเอยกันได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราเป็นนักเผยแพร่พระศาสนา ถ้าหากนักเผยแพร่พระศาสนามีมติขัดแย้งกัน มันก็จะเป็นการทำลายซึ่งกันและกันไปในตัว


          กรรมฐานทั้งพุทโธ และกรรมฐานหนอก็ดี ถ้าหากว่าสภาวะจิตมันสงบวูบลงแล้ว ก็ไปสว่างโร่นิ่งอยู่อย่างนั้น ไม่ไปหน้ามาหลัง มันติดอยู่แต่ความสงบอย่างเดียว มันก็เป็นเพียงแต่สมถกรรมฐานเท่านั้นเอง ทีนี้ บางทีเราอาจจะพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยยกเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาพิจารณาน้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความไม่มีตัวไม่มีตน ในขณะที่เรานึกพิจารณาอยู่นั้น บางทีจิตของเราก็อาจจะสงบวูบลงไป นิ่งเป็นอัปปนาสมาธิ แต่โดยอารมณ์แล้ว เรากำลังเจริญวิปัสสนากรรมฐาน แต่บางครั้งมันอาจจะกลายเป็นสมถกรรมฐานก็ได้ ไม่ใช่ว่าเราพิจารณาพระไตรลักษณ์แล้ว จิตมันจะเป็นวิปัสสนากรรมฐานอยู่เสมอไป บางทีมันได้จังหวะของมันแล้ว มันก็จะสงบนิ่งลงไปเป็นสมถะเหมือนกัน


          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณาอะไร ๆ ก็ตาม เมื่อเกี่ยวกับธรรมะ ซึ่งเราจะพิจารณาน้อมไปสู่พระไตรลักษณ์นั้น ในขณะที่เรา ใช้ความน้อมนึกคิดพิจารณาโดยเจตนา หรือจงใจที่จะคิดให้สิ่งนั้นว่าเป็นอนัตตา ในขณะที่เราคิด เราพิจารณา ด้วยความนึกคิดธรรมดา ๆ นี้ อันนี้มันยังเป็นภาคปฏิบัติ แต่ถ้าสมมติว่าเราพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ว่าอันนี้มันเป็นอนิจจัง เป็นอนิจจังเพราะอะไร เป็นอนิจจัง เพราะอย่างนั้น ๆ  นี่ในขณะที่เรากำลังดำเนินการปฏิบัติอยู่ที่นี้  ในเมื่อเราดำเนินการปฏิบัติคือพิจารณาอยู่อย่างนี้ พอได้จังหวะ จิตมันจะเกิดสงบนิ่งลงไป มีอาการสลดสังเวชในเรื่องที่เราพิจารณานั้น ทำให้เกิดปีติ สุข ขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง แล้วจิตก็เข้าไปสู่ความสงบ ไปนิ่งอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แล้วจิตก็จะถอนออกจากความสงบนิ่งนี้ พร้อม ๆ กันนั้น จิตก็จะตัดสินในสิ่งที่เราพิจารณาอยู่นั้นว่าเป็นอะไร หรือบางที ถ้าหากว่าจิตมีความสงบนิ่งนาน บางทีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะปรากฏขึ้นมา ให้เรารู้เห็น ในขณะนั้น โดยที่จิตก็เป็นจิต รู้อยู่เห็นอยู่ สิ่งที่ให้รู้ว่าเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ปรากฏอยู่ มีอยู่ แต่ไม่มีภาษา สมมติบัญญัติใด ๆ เกิดขึ้น ถ้าหากเรามีความนึกคิดว่า อันนี้คือเรา ยังไม่เป็นวิปัสสนากรรมฐาน เป็นแต่เพียงวิปัสสนานึก ไม่ใช่ความรู้แจ้งเห็นจริง ความรู้แจ้งเห็นจริงโดยสัจภาวะนั้น จะต้องเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แม้แต่จิตจะสงบก็ยังเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จิตจะรู้ก็ยังเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ อัตโนมัติของจิตอันนี้เกิดจากอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย สิ่งนั้นคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ท่านฝึกฝนอบรมให้ดีแล้ว นั้นแหละ มันเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ความเห็นแจ่มแจ้งขึ้นมา

 


          และอีกนัยหนึ่ง อันนี้ในฐานะที่ท่านทั้งหลาย ต่อไปก็อาจจะเป็นครูบาอาจารย์ ให้การอบรมพระกรรมฐาน ผมจึงใคร่ที่จะ นำเอา ประสบการณ์ที่เคยได้ยินได้ฟังมา ครั้งหนึ่ง มีอุบาสิกาท่านหนึ่งเคยมาเล่าให้ฟังว่า ดิฉันไปปฏิบัติกรรมฐาน อยู่ในสำนักอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านสอนให้บริกรรมภาวนาว่า พุทโธ ๆ เพื่อทำจิตให้สะอาด สอนให้ภาวนาพุทโธ ๆ เพื่อทำจิตให้ดับ ทีนี้อุบาสิกานั้น ก็ปฏิบัติตามคำแนะนำ ของท่านอาจารย์ นั่งกำหนดจิตบริกรรมภาวนาพุทโธ ๆ ผลสุดท้ายจิตก็สงบเป็นอัปปนาสมาธิ แล้วอุบาสิกานั้นก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติอยู่บ่อย ๆ จนกระทั่งมีความชำนิชำนาญ ในการปฏิบัติสมาธิภาวนาพอสมควร หนัก ๆ เข้า เมื่อจิตมันมีความสงบบ่อย ๆ ตามธรรมดาสมถกรรมฐาน มันทำให้เกิดอภิญญา คือความรู้ยิ่งเห็นจริง ขึ้นมาเป็นบางครั้งบางคราว แต่แล้วเมื่อจิตเกิดเป็นสมาธิบ่อย ๆ เข้า อุบาสิกานั้น ก็รู้อย่างโน้น เห็นอย่างนี้เข้า ซึ่งมันเป็นอุบายเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ภายหลังได้เข้าไปกราบเรียนท่านอาจารย์ว่า ทำไมจิตของดิฉันมันไม่ดับสักที ทีนี้ อาจารย์ก็ตอบว่า ก็คุณมัวแต่ไปปรุงอยู่นั้นแหละ เมื่อไรมันจะดับสักที นี่อาจารย์ว่าอย่างนี้

 

          ท่านทั้งหลาย ในฐานะที่เป็นผู้ศึกษามาในระดับชั้นสูง คือผ่านขั้นมหาวิทยาลัยมาแล้ว ท่านลองคิดดูซิว่า จิตคนเรานี้ มันมีโอกาส ที่จะดับได้ไหม ถ้าหากว่าจิตมันดับแล้ว เราปฏิบัติกันนี้ จะเอาอะไรไปบรรลุคุณธรรม ในเมื่อจิตดับแล้ว เราก็ตายเท่านั้นเอง แต่ต้องเข้าใจว่า มันไม่ใช่เป็นอย่างนั้น อาการที่จิตดับนี้ ขอเสนอมติความเห็น เพื่อเป็นแนวพิจารณา สำหรับท่านทั้งหลายดังนี้

 

          โดยปกติคนเรานั้น เรามีกายกับใจ หรือในที่นี้ขอสมมติว่าจิตพระอาจารย์องค์นั้น สอนว่าให้จิตดับ ทำจิตให้ดับ เรามีกายกับจิต โดยปกติมันอาศัยกัน ติดต่อกับโลกภายนอก โดยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ทีนี้เมื่อเรามาบริกรรมภาวนา มีวิตก วิจาร ปีติ สุข  เอกัคคตา บริกรรมภาวนาไป จนกระทั่งจิตสงบเป็น ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ โดยลำดับ เมื่อจิตเข้าถึง อัปปนาสมาธิแล้ว ตามหลักปริยัติ ท่านก็ว่า จิตเข้าสู่ความเป็นหนึ่ง คือเอกัคคตา เมื่อจิตประกอบด้วย เอกัคคตา กับ อุเบกขา อันนี้ ท่านเรียกว่า จิตเป็นอัปปนาสมาธิ จิตในตอนนี้ ละเว้นจากการรู้สึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ มันยังเหลืออยู่แต่ใจ ที่สงบนิ่ง อยู่ในจุดเดียว จุดนั้นอยู่ที่ไหน ใจอยู่ที่ไหน จุดนั้นก็อยู่ที่นั่น คือ จิตก็อยู่ที่จิตนั้นเอง ไม่ส่งกระแสออกมารับรู้อารมณ์อื่น ๆ ในภายนอก มีแต่จิตตัวเดียวนิ่งอยู่ ตั้งเด่นอยู่ แล้วมีความสว่างไสวอยู่ ไม่ได้รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ แม้แต่ใครจะมาทำเสียงให้ดังขึ้น สักปานใด ในขณะนั้น ผู้ภาวนานั้นจะไม่มีความรู้สึกเกิดขึ้น นี่ตามความเข้าใจของผม เข้าใจว่าดังนี้ คำว่าจิตดับมันหมายถึงว่าดับอย่างนี้ อันนี้เรียกว่าจิตดับในขั้นสมถกรรมฐาน

 


          ทีนี้ จิตดับในขั้นวิปัสสนากรรมฐาน หมายถึงจิตที่รับรู้อารมณ์อยู่ แต่หากไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ เกิดขึ้น ตาเห็นรู้สักแต่ว่าเห็น หูฟังเสียงสักแต่ว่าได้ยิน จมูกได้กลิ่นคาวสักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรสก็สักแต่ว่ารู้รส กายถูกต้องสัมผัสสักแต่ว่าถูกต้องสัมผัส ใจนึกคิดสักแต่ว่านึกคิด แต่มันปราศจากความยินดียินร้าย คืออิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ จิตดำรงตนเป็นกลางโดยเที่ยงธรรม เรียกว่า มัชฌิมา คือมันไม่มีความยินดียินร้าย อันนี้จิตดับกิเลส แต่ตัวจิตเองไม่ได้ดับ มันยังมีอยู่ สภาวะที่ตั้งจิตผู้รู้ยังมีอยู่ ขอเสนอแนะความคิดเห็น ตามที่ได้มีประสบการณ์มา เพื่อเป็นแนวทางพิจารณาของบรรดาท่านทั้งหลาย

 


          ต่อไปนี้ จะขอแนะวิธีการ ซึ่งเข้าใจว่าท่านทั้งหลาย คงจะมีความเข้าใจพอสมควร เป็นกรรมฐานตามแบบที่ท่านอาจารย์เสาร์ (กันตสีโล) ท่านอาจารย์มั่น (ภูริทัตโต) ได้อบรมสั่งสอนมาแล้ว สามารถมีลูกศิษย์ลูกหาสืบเชื้อสายมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้


          เบื้องต้นท่านจะสอนให้ภาวนาพุทโธ วิธีการภาวนาพุทโธนั้น ก่อนอื่น การไหว้พระสวดมนต์ และการเจริญพรหมวิหาร เป็นสิ่งจำเป็น ที่นักปฏิบัติทุกท่าน จะพึงกระทำเป็นบุรพกิจก่อน เพราะอันนี้มันเป็นพิธีกรรม สำหรับไหว้ครู พระพุทธเจ้าเป็นครูของเรา เราทำพิธี ไหว้ครูเสียก่อน แล้วจึงค่อยเจริญพรหมวิหาร การเจริญพรหมวิหาร มันเป็นอุบาย ประกาศความเป็นมิตร ต่อสิ่งเร้นลับซึ่งอาจจะมี เราไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ด้วยตา เผื่อจะให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น ได้ทราบว่าเรามาดี ไม่ได้เป็นผู้มาร้าย แล้วเขาจะได้ช่วย รักษาความสงบ ไม่รบกวน ซึ่งเรื่องนี้ในพระสูตร ก็มีปรากฏอยู่แล้ว เช่นอย่างต้นเหตุสวดมนต์ เกี่ยวกับกรณียเมตตสูตร เข้าใจว่า ท่านทั้งหลาย ก็คงทราบดี


           เพราะฉะนั้น ที่ท่านอาจารย์เสาร์ ท่านสอนให้ภาวนาพุทโธนั้น ท่านมีเหตุผลอย่างนี้ ท่านว่า พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ พุทโธ ผู้ตื่น พุทโธ ผู้เบิกบาน และพุทโธเป็นกิริยาของใจ คนเราทุกคนมีใจเป็นเครื่องรู้ พระพุทธเจ้าก็มีใจเป็นเครื่องรู้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้ามีใจสามารถรู้ได้ เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าก็สามารถจะรู้ตามได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พุทโธ จึงเป็นกิริยาของใจ การภาวนาพุทโธ ๆ ๆ พุทโธ แปลว่าผู้รู้ ในเมื่อจิตสงบแล้ว จิตจะเกิดรู้ขึ้น คือรู้สึกอยู่ภายในจิตอย่างเดียว ในขณะที่จิตรับรู้อารมณ์หลาย ๆ อย่างนั้น มันไม่มีความสงบ จิตมันไม่รู้ แต่มันรู้จักแต่อารมณ์ที่ผ่านเข้ามาเท่านั้น แต่สภาพความเป็นจริงของจิตนั้นมันไม่รู้ แต่ถ้าเรามาบริกรรมภาวนาทางจิต ให้สงบลง เป็นเอกัคคตาแล้ว เราจะได้รู้สภาพความเป็นจริง ของจิตของเรา ว่ามันมีสภาพเป็นอย่างไร และเราจะได้รู้ว่า จิตของเรานี้ มันหนักไปในทาง ราคจริต หรือ โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต หรือ วิตักกจริต ตามจริต ๖ ประการนั้น เราจะได้ทดสอบดู แล้วจะสามารถรู้ สภาพตามความเป็นจริง ของจิตของเรา ว่ามีจริตเป็นอย่างไร และเราจะได้หาอุบาย สำหรับเป็นการอบรมฝึกฝนจิต ในโอกาสต่อไป

 


          เพราะฉะนั้น การบริกรรมภาวนาพุทโธ จึงเป็นการจำเป็น และไม่จำเป็นเฉพาะแต่ บริกรรมภาวนาว่าพุทโธ ๆ อย่างเดียว อันอื่น ๆ ก็จำเป็นด้วย แล้วแต่อุปนิสัยของท่านผู้ใด จะชอบใจอย่างใด จะเป็น พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือ ยุบหนอ พองหนอ สัมมาอรหัง อะไรก็แล้วแต่ อันนั้นมันเป็นเพียงบริกรรมภาวนา เป็นเหยื่อสำหรับล่อจิตให้อยู่ในสิ่งนั้น เพื่อเป็นอุบายให้จิตสงบเท่านั้น แต่เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว จิตมันไม่ได้ไปนึกถึง บริกรรมภาวนาอันนั้นหรอก เป็นแต่เพียงมีสภาพจิตที่สงบนิ่งแล้วก็รู้เห็นชัดอยู่

 


          ในเมื่อเรามาบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเราบริกรรมภาวนาไปได้สักพักหนึ่ง ถ้าหากว่าจิตของเรามันเริ่ม ๆ จะทำ มีอาการสงบขึ้นมา ในบริกรรมภาวนานั้น บางทีก็จางเลือนลางหายไปหรือบางทีก็ไม่หาย ถ้าหากว่าบริกรรมภาวนานั้น มันจางหายไป โดยจิตไม่นึกบริกรรมภาวนา จิตจะนิ่งอยู่เฉย ๆ อันนั้นท่านให้กำหนดดูความเฉย ๆ ของจิตอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องไปนึกไปคิดอะไรทั้งนั้น ในขณะนั้น ถ้าหากว่าในความรู้สึกจะมีลมหายใจปรากฏขึ้นมา ก็ให้กำหนดรู้ลมหายใจต่อไป โดยไม่ต้องนึก กำหนดบริกรรมภาวนาอีก บางท่านอาจจะเข้าใจผิดว่า ในเมื่อจิตว่างจากการบริกรรมภาวนาแล้วนี่ เรามันจะง่วงนอนเสียแล้ว หรือมันหลง มันเผลอ ไปเสียแล้ว บางทีอาจจะเข้าใจอย่างนี้ ถ้าหากว่าเรายังนึกบริกรรมภาวนาพุทโธ ๆ ๆ ๆ อยู่ ถึงแม้ว่าจิตมันจะสงบอยู่กับพุทโธ พุทโธ มันก็เป็นเพียง สงบชั้นต้น ๆ ถ้าหากมันสงบนิ่งลงไปจริง ๆ แม้แต่เพียงแค่เป็นอุปจารสมาธิ คือสมาธิที่เฉียด ๆ เข้าไป แต่คำบริกรรมภาวนานั้น มันจะ จางหายไป และเมื่อกำหนดมันนิ่ง เป็นอัปปนาสมาธิจริง ๆ แล้ว คำบริกรรมภาวนานั้นจะหายไปโดยเด็ดขาด ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย มีแต่ความเป็นหนึ่งของจิต คือเอกัคคตาเท่านั้น จงสังเกตดังนี้

 

          แต่อีกอย่างหนึ่ง ในเมื่อเราบริกรรมภาวนาอยู่ อาการที่จิตจะสงบนั้นมันมีคล้าย ๆ กับจะง่วงนอน อาการที่จิตจะก้าวเข้าไปสู่ ความสงบนั้น คืออาการคล้ายนอนหลับ มันคล้ายนอนหลับจริง ๆ ถ้าหากว่าท่านสังเกตดูเวลาท่านจำวัด จิตของท่าน บางทีอาจจะ แสดงอาการ โงก ๆ หรือบางทีคล้าย ๆ กับตัวมันจะลอยไป แล้วในที่สุด มันก็หลับมิดไปเลยไม่รู้สึกอะไร แต่ว่าอาการที่จิต แสดงความสัมพันธ์ เกี่ยวกับการภาวนา ในเมื่อมันแสดงอาการวูบ ๆ ๆ ลงไปแล้วก็นิ่งพั่บ มันจะเกิดความสว่างขึ้นภายในจิต ถ้าหากมันนิ่งพั่บมันมืด มันก็นอนหลับอย่างธรรมดา มันเป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง และอาการที่มันจะก้าวลงสู่ความเป็นเช่นนั้น มันมีอาการเหมือน ๆ กับเราจะนอนหลับ ในวาระแรก ๆ อันนี้สังเกตให้ดี แต่ถ้าหากมันวูบลงไปแล้วนิ่ง มันมืดมิดหลับไปเลย อันนั้นมันเป็นการนอนหลับ ท่านจะนั่งอยู่ตลอดคืนยันรุ่ง ก็เป็นการนั่งหลับ แต่ถ้าจิตเข้าสมาธิแล้วมันวูบลงไป แล้วนิ่ง ๆ แล้วเกิดสว่างโร่ขึ้น คล้าย ๆ กับว่าเราจะมองขึ้นข้างหน้าหรือเบื้องหลัง อันนั้นเป็นจิตเข้าสมาธิ พึงสังเกตดังนี้


          สำหรับการกล่าวธรรมะเกี่ยวกับการปฏิบัติเป็นการเริ่มต้นในวันนี้ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้…


 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner