Home อย่างไร คือ การพัฒนาจิต
การบริหารกิเลสด้วยความเป็นธรรม PDF Print E-mail
Monday, 01 November 2010 09:28

การบริหารกิเลสด้วยความเป็นธรรม
โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
เทศนาอบรมนักเรียน โรงเรียนสระพระพิทยาคม อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา
ณ วัดวะภูแก้ว อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา
วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕

  
เตรียมนั่งสมาธิเลย มองดูพระพุทธรูปเบื้องหน้า นั่งเอาขาขวาทับขาซ้าย
มือซ้ายวางลงบนตัก เอามือขวาวางทับมือซ้าย ให้หัวแม่มือจรดกันนิดหน่อยอย่าให้ถึงกับตึงเครียด
นั่งตั้งกายให้ตรง แต่อย่าไปเกร็งหรือกดข่มกล้ามเนื้อและประสาทส่วนใดส่วนหนึ่ง
ตั้งใจกำหนดรู้จิตของตัวเอง ความรู้สึกอยู่ที่ไหนจิตของเราก็อยู่ที่นั่น


ลองกำหนดรู้จิต ทำจิตให้ว่าง ๆ อยู่สักพักหนึ่ง แล้วทำความรู้สึกในจิตว่า 
พระพุทธเจ้าอยู่ในจิตของเรา พระธรรมอยู่ใจจิตของเรา พระสงฆ์ก็อยู่ในจิตของเรา
จิตของเราเป็นพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เพราะเรามีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี

กิริยารู้ รู้ของจิตนั้นคือพุทโธที่อยู่ในจิตของเราแล้ว

การทรงไว้ซึ่งความปกติทั้งกาย วาจา และจิต มีความสำรวมรู้สึกตัวอยู่
เรามีพระธรรมอยู่ในจิตของเรา คือรู้ ได้แก่พุทโธ

เมื่อเรามีสติสังวรระวังตั้งใจจะกำหนดรู้จิตของเราอยู่ตลอดเวลา
ความตั้งใจเป็นกิริยาของพระสงฆ์
เราก็มีพระสงฆ์อยู่ในจิตของเรา

ดังนั้น ในอันดับต่อไป เราจะกำหนดรู้เอาจิตของเราเท่านั้น
ช่วงนี้ทุกคนให้มีสติกำหนดรู้จิตของตัวเอง
ให้กำหนดรู้จิตเฉยอยู่เมื่อกายกับจิตของเรายังสัมพันธ์กันอยู่
อะไรผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
จิตตัวผู้รู้เขาจะทำหน้าที่รับรู้ของเขาเองโดยอัตโนมัติ
ในทางปฏิบัติ เราต้องเอาสติประคับประคองอยู่ที่จิตของเราเอง
เสียงพูดแม้ว่าทุกคนจะไม่ตั้งใจฟัง แต่เมื่อเรามีสติกำหนดรู้จิตของเราอยู่
จิตเขาจะรับรู้เอง เพราะช่วงนี้เขามีหูเป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสารกับโลกภายนอก
คือนอกจากตัวของเขาเอง

ดังนั้น เมื่อนักเรียนพากันมากำหนดรู้จิตของตัวเอง
ตั้งใจรู้จิตของตัวเองอยู่ตลอดเวลา เราก็ได้ปฏิบัติสมาธิภาวนาอยู่ตลอดเวลา
ช่วงนี้เรายังไม่บริกรรมภาวนาหรือนึกถึงอะไรทั้งสิ้น ให้ตั้งใจกำหนดรู้จิต
คอยสังเกตรับฟังเสียงที่ผ่านเข้าไปทางหู
ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยการพูดถึงศีลที่เราได้สมาทานแล้ว

ศีล คือ ความปกติกาย ปกติวาจา ปกติใจ หรือปกติจิต
เวลานี้กายของเราอยู่นิ่ง ๆ กายก็ปกติ
วาจาเราอยู่นิ่ง ๆ ไม่พูด วาจาก็ปกติ
จิตของเรามีสติกำหนดรู้จิตอยู่ คือกำหนดรู้เฉยอยู่ จิตก็เป็นปกติ
ความปกตินี่คือลักษณะของศีล สีละ แปลว่า ปกติ ปกติกาย ปกติวาจา ปกติใจ
อันนี้เราเป็นผู้มีศีลแล้ว

ปกติกายคือกายไม่ฆ่า ไม่ประทุษร้าย ปกติวาจาคือ ปากไม่พูดคำหยาบ ไม่โกหก
ไม่พูดส่อเสียดยุยง ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลจิตปกติไม่คิดอิจฉาตาร้อนใคร
มีสติกำหนดรู้ตัวเองอยู่เวลา

เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปกติแล้วก็ได้ชื่อว่ามีศีล
กายก็มีศีล วาจาก็มีศีล จิตก็มีศีล
เรามีแล้วเพราะเราได้ตั้งใจสมาทานที่ผ่านมาเมื่อสักครู่นี้
เมื่อเป็นเช่นนั้นเราน้อมจิตน้อมใจคอยฟังธรรม

ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เรารักษาศีล ๕
เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านปราถนาจะให้มนุษย์สร้างความรัก
ความเมตตา ความเอ็นดู ความปรานีต่อกันและกัน
ประโยคแรกท่านจะสั่งว่าอย่าฆ่ากัน อย่าเบียดเบียนกัน
อย่าข่มเหงกัน อย่ารังแกกัน อย่าอิจฉากันพยาบาทกัน
สิ่งดังกล่าวมานี้อยู่ในขอบข่ายแห่งศีล ๕ ข้อ ที่เราได้สมาทานมาแล้ว

ถ้าหากว่ามนุษย์ไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหง ไม่รังแกซึ่งกันและกัน
และไม่อิจฉาพยาบาทอาฆาตจองเวรซึ่งกันและกัน
สังคมเราจะมีความสงบสุขราบรื่นหรือไม่
รับรองว่าสังคมของเราจะมีความสุขสงบ ราบรื่น
นอกจากจะราบรื่นแล้วยังแจ่มใส เราจะยิ้มแย้มเข้าหากันอย่างฉันมิตร
เราจะมองดูเพื่อนฝูงของเราฉันมิตร เหมือน ๆ กับเราเป็นลูกพ่อแม่เดียวกัน
คลานตามกันออกมา เมื่อเป็นเช่นนั้นสังคมก็มีความสงบสุข

ประโยชน์ของการักษาศีล ๕ ประการแรก ป้องกันไม่ให้มนุษย์เกิดมีการฆ่ากัน เพราะ
- ปาณาติปาตา เราพยายามฆ่าท่าน ท่านก็จะต้องพยายามฆ่าเรา

- อทินนาทาน
การหยิบฉวยเอาผลประโยชน์ของผู้อื่นหรือทรัพย์สมบัติของผู้อื่นที่เขาไม่อนุญาตด้วยอาการแห่งขโมย
เมื่อท่านรู้ ท่านโกรธ ท่านก็ฆ่าเรา
หรือไม่ถ้าเราเก่งกว่าเราก็ต้องเป็นฝ่ายฆ่าท่าน

- กาเมสุมิจฉาจาร ข่มเหงน้ำใจกัน ไปแอบทำชู้สู่เมียหรือลูกเต้าของท่าน
เมื่อท่านโกรธ ท่านก็พยายามฆ่าเรา หรือไม่เราก็ต้องฆ่าท่าน

- มุสาวาท หลอกลวงอำพรางให้ท่านเสียผลประโยชน์ เกียรติยศ ชื่อเสียง ท่านโกรธ
ท่านก็ฆ่าเรา หรือไม่เราก็ต้องฆ่าท่าน

- สุรา ตัวมัวเมาหรือมึนเมาด้วยฤทธิ์แห่งของเมา หรือเมาในลาภในยศ ในสรรเสริญ ในความสุข
ทำให้เกิดความอิจฉาตาร้อน ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมีการฆ่ากัน

เพราะฉะนั้น ศีล ๕ ข้อนี้จึงเป็นคุณธรรมประกันความปลอดภัยของสังคม
ป้องกันไม่ให้มนุษย์เกิดมีการฆ่ากัน


ประการต่อไป ศีล ๕ ประการมีคุณในการตัดทอนผลเพิ่มของบาป
บาปที่เราเคยทำมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ หรือตั้งแต่เช้านี้


บัดนี้เรามางดเว้นจากการทำบาปตามกฏของศีล ๕ ข้อนั้น
เราได้ชื่อว่าตั้งใจตัดกรรมตัดเวรตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ถ้าหากเราสามารถปฏิบัติต่อ ๆ ไปจนกระทั่งตลอดชีวิตของเรา
เราก็จะได้ตัดกรรมตัดเวรตลอดชีวิตของเรา การตัดกรรม ก็คือหยุดทำความชั่ว
ความบาป การตัดเวร ก็คือหยุดการพยาบาทอาฆาตจองเวรซึ่งกันและกัน
คือไม่แก้แค้นซึ่งกันและกัน รู้จักคำว่าให้อภัยซึ่งกันและกัน
ผู้ทำผิดก็ให้รู้จักคำว่า ขอโทษ ผู้ถูกขอโทษก็ควรจะรู้จักคำว่า ให้อภัย
ไม่เป็นไรหรอก อันนี้เป็นอุบายตัดกรรมตัดเวร


ประการต่อไป เป็นอุบายสำหรับตัดทอนกิเลสความชั่วฝ่ายบาปให้น้อยลงหรือหมดไป
คนเรามีความโลภคือความอยากได้ มีความโกรธเกิดจากความไม่พอใจ
มีความหลงในสิ่งที่เราติดพัน ความโลภเป็นกิเลสที่ชั่วช้าลามก เป็นอกุศลมูล
เป็นรากเหง้าของอกุศลคือความบาปทั้งปวง


พระพุทธเจ้าสอนให้เราละ ละโลภ ละโกรธ ละหลง แต่ถ้าเราละไม่ได้
พยายามหักห้ามจิตอย่าให้ประพฤติล่วงเกินศีล ๕ ข้อ ข้อใดข้อหนึ่ง
คือไม่ล่วงเกินในสิ่งที่เป็นบาป เช่น การฆ่า เบียดเบียน ข่มเหง
รังแก อิจฉาตาร้อน เป็นต้น


อันนี้เราตั้งใจละเอาได้ ละการกระทำ การกระทำที่เราทำด้วยกาย วาจา
และคิดด้วยใจ มูลเหตุมันเกิดจาก ความโลภ ความโกรธ และความหลง
เพราะฉะนั้น ในหลักศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าท่านจึงให้ยึดศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติ
การกระทำสิ่งใดที่ไม่ผิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง แม้จะทำด้วยความโลภ ก็ทำลงไป
แต่ขอให้เป็นการทำดี


เราใช้ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ให้เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนจิตของเราให้เกิดมีความทะเยอทะยาน
ในความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น


สิ่งที่มนุษย์พึงประสงค์มีอยู่ ๕ อย่าง คือ ลาภ ได้แก่ ผลประโยชน์ คือ
ทรัพย์สินเงินทองและวิชาความรู้ ยศ ได้แก่ เกียรติยศ ยศฐาบรรดาศักดิ์
เรามียศเป็นนาย มียศเป็นเด็กชาย เราต้องการอยากจะให้ยศของเราสูงขึ้นไป
เราต้องใช้ความโลภของเรา เป็นเครื่องเตือนใจของเราให้เกิดความทะเยอทะยาน
ในความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น


สร้างความโกรธในสิ่งที่มันจะทำให้เราได้ประโยชน์
และสร้างคุณธรรมให้มาโกรธความโง่ เอาความโลภมากระตุ้นให้เราขยันเรียน
เอาความโลภมากระตุ้นให้หมั่นขยันในการฝึกหัด
คือขยันในการฟัง การถาม การคิด การขีดการเขียน สุ จิ ปุ ลิ


สุ-ฟัง ปุ-ถาม อะไรไม่เข้าใจเราถาม ขยันถาม
ลิ-ขีดเขียน คือฝึกหัดให้มันคล่องมือ


เมื่อเราหมั่นเราขยัน เราเอาความโลภเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนใจ ขยันฟัง ขยันถาม
ขยันเขียน ขยันคิด การถามเป็นอุบายวิธีฝึกหัดปากของเราให้มีความกล้าหาญ
ฝึกหัดนิสัยของเราไม่ให้อายคูร โบราณท่านกล่าวว่าอายครูไม่ได้ความรู้ อายชู้ไม่ได้อะไร
ถือหลักว่าเราต้องกล้า อะไรที่เราไม่เข้าใจ ต้องขยันถาม ฟังแล้วไม่เข้าใจต้องถาม
ถามมาแล้วต้องฝึกหัด คือขีดเขียนให้มันคล่องต้ว


แล้วก็คิดหาอุบายและเหตุผลในการกระทำนั้น ๆ ว่ามันเกิดประโยชน์อะไร
เกิดคุณเกิดประโยชน์อย่างไร เป็นคุณหรือเป็นโทษ เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์
ถ้าเราทำดังที่กล่าวมาแล้ว ได้ชื่อว่า เราใช้ความโลภของเราถูกทาง
ใช้ความโกรธของเราถูกทาง เพราะเราโกรธความโง่
โกรธความไม่มีความรู้ ในเมื่อเกลียดหรือโกรธความไม่มีความรู้ ความโง่
เราต้องขยันหมั่นเพียรในการเรียน เอาความโลภเป็นแรงกระตุ้นเตือน


สิ่งที่มนุษย์ปรารถนาในข้อต่อไป คือ ชื่อเสียงอันงาม
การสร้างชื่อเสียงให้โด่งดัง หรือชื่อเสียงอันงาม ขยันเรียน
มีความประพฤติสุภาพเรียบร้อย ชายประพฤติเป็นสุภาพบุรุษ
หญิงประพฤติตนเป็นสุภาพสตรี เรียกว่าอยู่ในกฏเกณฑ์ที่เป็นสุภาพชน
โดยยึดศีล ๕ เป็นหลัก


ในเมื่อเราประพฤติได้ดังที่กล่าวมา เราก็มี ความสุขกายสุขใจ
แม้ว่าเราจะปรารถนาวิชาความรู้ หรือทรัพย์สมบัตินานัปการ
ความมุ่งหมายอยู่ที่ความสุขกายและสุขใจ
เราเกิดมาในชีวิตหนึ่ง ๆ มาเป็นคนร่วมโลกเขา
เราควรจะพยายามหาความสุขกายสุขใจในทางที่ชอบด้วยหลักศีลธรรม
หลักกฏหมายปกครองบ้านเมือง และหลักเหตุผล
จึงจะใด้ชื่อว่าปัญญาชนผู้นับถือพระพุทธศาสนา
ประการสุดท้าย คือ อำนาจ ได้แก่ ความเป็นใหญ่


การสร้างอำนาจเราต้องพยายามสร้างตัวเอง
ให้มีอำนาจบังคับตัวเองให้ได้ เวลาขึ้เกียจบังคับให้มันเกิดความขยัน
เวลามันอืดอาด ลุกยาก นั่งยาก ก็บังคับให้มันคล่องแคล่วว่องไว
เวลามันเกิดขี้ขลาด บังคับให้มันเกิดความกล้าหาญในทางที่ชอบ
มีความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน ประพฤติอ่อนโยนนอบน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่


สุภาพบุรุษเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อม แต่มีความเข้มแข็ง เพราะเขามีสุขภาพกายดี
สุขภาพจิตก็ดี จึงเป็นผู้มีดีพร้อมเมื่อเขามีดีพร้อม เขามีอำนาจในตัวของเขาเอง
เมื่อได้รับการศึกษาเล่าเรียน เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ สำเร็จปริญญาโท เอก มา
ในเมื่อเราไปทำธุรกิจส่วนตัว เราก็มีอำนาจในหน้าที่ของเรา
เมื่อรับราชการ เราก็มีอำนาจหน้าที่ตามที่ราชการมอบหมายให้
เรามีอำนาจที่จะทำอะไรโดยไม่มีใครขู่เข็ญบังคับ เราทำด้วยความพอใจ
โดยอาศัยกติกา คือ กฏหมาย ระเบียบ ศีล ๕ เป็นเครื่องประกันความปลอดภัย


เพราะฉะนั้น ศีล ๕ จึงเป็นขอบเขตของการใช้กิเลสให้เกิดเป็นประโยชน์โดยความเป็นธรรม
การทำอะไรด้วยกาย วาจา และใจ เมื่อไม่ผิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง ทำให้มันมาก ๆ
ทำให้มันมากๆ แต่สิ่งใดที่ผิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง ให้งดทันที

ประการสำคัญที่สุด ขอฝากลูกหลานเอาไปคิดเป็นการบ้าน หลวงตาว่า ศีล ๕
นี้เป็นคุณธรรมที่เป็นมูลฐานให้เกิดระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
เพราะหัวใจของประชาธิปไตยอยู่ที่การเคารพสิทธิมนุษยชน เมื่อใครมีศีล ๕
ก็ได้ชื่อว่าเคารพทุกสิทธิ
สิทธิในการดำรงชีพอยู่โดยเสรี สิทธิในการครอบครองทรัพย์สมบัติโดยเสรี
สิทธิในการใช้ผลประโยชน์ในคู่ครองของตนโดยเสรี
ถูกต้องการกฏหมายปกครองบ้านเมืองและศีลธรรม
เราก็ได้ยึดเอาธรรมอันเป็นหัวใจของเสรีภาพ เสรีชน โดยมีเหตุ มีผล มีขอบเขต
มีกติกา เพราะฉะนั้น เราจะทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีกติกา


เวลานี้เรามาศึกษาธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เรามายึดเอาศีล ๕
เป็นกติกาแห่งการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าสอนให้เราละบาปความชั่วร้าย
ผู้ใดต้องการจะละบาป ความชั่วร้าย ให้ยึดศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติให้เคร่งครัด
เราก็ได้ชื่อว่าละซึ่งบาปทั้งปวง ทีนี้เมื่อเราละบาปทั้งปวงได้แล้ว
เราต้ดกรรมตัดเวรให้เด็ดขาด


เราจะไปอยู่ที่ไหนก็มีความสุขสบาย ไม่ต้องไปหวาดระแวงภัยว่าจะมีภัยใด ๆ
บังเกิดขึ้น นอนอยู่บ้านก็สบาย มานอนในป่าอย่างนี้ก็สบาย
โดยอาศัยบุญบารมีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
และอำนาจคุณความเมตตาปรานีของครูบาอาจารย์แผ่คลุมเรา เราก็มีความสุขกาย สุขใจ
นี่คือประโยชน์ของการรักษาศีล ๕ ที่เราจะมองเห็นในปัจจุบันนี้

ส่วนเรื่องรักษาศีลแล้วไปสวรรค์ รักษาศีลแล้วถึงนิพพาน
อันนั้นเอาไว้คุยกันทีหลัง เรามาทำความเข้าใจในประโยชน์ของการรักษาศีล ๕
ในปัจจุบันนี้ให้มาก ๆ เพราะศีล ๕ เป็นอุบาย
ให้มนุษย์สร้างความรัก ความปรานีในกันและกัน ศีล ๕
เป็นคุณธรรมประกันความปลอดภัย
เพราะกันไม่ให้มนุษย์เกิดมีการฆ่ากัน ศีล ๕ เป็นอุบายตัดกรรมตัดเวร
กรรมคือการกระทำ เวรคือการผูกได้แก่การคอยจ้องล้างจองผลาญ ศีล ๕
เป็นคุณธรรมที่เป็นยอดแห่งการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย

ผู้ต้องการจะให้บ้านเมืองปกครองในระบอบประชาธิปไดย ต้องพิจารณาศีล ๕ คือเอาศีล
๕ มาเป็นหลักปฏิบัติ
และก็ไม่ต้องหนักใจ ถ้าหากใครยังงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาประกอบอาหาร
เลี้ยงตนเองและครอบครัวไม่ได้
ถ้านึกสนุกอยากจะมีศีล ๕ กับเขาบ้าง ก็ให้ตั้งปณิธานให้แน่วแน่ว่า
ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ฉันจะไปฆ่า ไม่เบียดเบียน
ไม่ข่มเหง ไม่รังแก ไม่อิจฉาตาร้อน ฉันจะปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย
ขอมนุษย์ทั้งหลายจงมีความสุขกาย สุขใจ อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงมีสุข
รักษาตนให้พ้นภัยทั้งปวงเถิด พยายามนึกเอาไว้อย่างนี้

ตามนัยดังที่กล่าวมา เราจะปฏิบัติธรรม คือปฏิบัติสมาธิภาวนา เราต้องรักษากาย
วาจาของเรา ซึ่งเปรียบเหมือนเปลือกไข่ ห่อหุ้มใข่แดงคือจิตของเราเอาไว้ ธรรมชาติของไข่ไก่
ไข่เป็ด ที่เราจะเอาไปพักให้มันเกิดเป็นตัว เราต้องพยายามทะนุถนอมประคับประคอง
อย่าให้เปลือกมันมีรอยร้าว หรือรอยบุบ ถ้ามันมีรอบร้าวหรือรอยบุบเอาไปฟักมันจะไม่เป็นตัว
มีแต่จะเน่า


แต่ถ้าเรารักษากายวาจาไม่ให้ละเมิดโทษตามศีล ๕ ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล
ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทะนุถนอมรักษาเปลือกไข่
คือ กาย วาจา ของเราให้ปลอดภัยไม่มีรอยร้าวไม่มีรอยบุบ
เราจะนำไปฝึกสมาธิภาวนาจิตของเราก็เป็นสมาธิได้ง่าย


อย่าว่าแต่พวกเราซึ่งเป็นเด็ก วัยหนุ่ม วัยสาว หรือเป็นผู้ใหญ่ เป็นคฤหัสถ์
แม้แต่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ผู้บวชในศาสนานี้ก็ต้องรักษาศีล ๕ และศีล ๒๒๗
ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ดี ถ้าไปละเมิดสิกขาบทข้อใดข้อหนึ่ง ในจำนวน ๒๒๗ ข้อ
กายวาจาของท่านผู้นั้นอันเปรียบเหมือนเปลือกหุ้มไข่จะมีรอยร้าวทันที


ในเมื่อมีรอยร้าว คุณภาพของความเป็นนักบวชเป็นพระก็ลดน้อยลงไปหนึ่งเปอร์เซนต์
ถ้าละเมิดสิกขาบทวินัย ๒๒๗ ข้อ หลายๆ ข้อ
คุณสมบัติแห่งความเป็นนักบวชเป็นพระก็ลดลงตามลำดับ
แม้ว่าเราจะปฏิญาณตนเป็นสมณะ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
แต่ละเมิดสิกขาบทวินัย แม้แต่อาบัติทุกกฏ
อาบัติปาจิตตีย์เป็นอย่างต่ำ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ลวงโลก


ยกตัวอย่างเช่น พระธุดงค์ไปเดินธุดงค์กรรมฐาน ท่านเดินไปองค์หนึ่งองค์เดียว
ไม่มีไวยาวัจกร คือไม่มีลูกศิษย์ที่เป็นคฤหัสถ์ ไม่มีใครถือสตางค์ให้
แต่ท่านเอาสตางค์ไส่ย่ามของท่านไป ท่านหยิบใส่ย่าม
เป็นอาบัตินิสสัคยิปาจิตตีย์ ๑ ตัว ในเมื่อหยิบออกจาย่ามไปซื้อของ
เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์อีก ๑ ตัว ของที่ได้มาบริโภคใช้สอย
ถ้าหากเป็นอาหารจะเป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ทุกคำกลืน


ถ้าเป็นสบงจีวรก็เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ทุกระยะที่นุ่งห่มแล้วเปลื้องออกจากกายแล้วนำมานุ่งห่มอีก
เป็นอันว่าเงินบาทเดียวเป็นอาบัติถึง ๓ ตัว เปลือกไข่ของพระคุณเจ้าร้าว
ละเมิดตัว ๑ เพียงแค่ร้าว ร้าวนิด ๆ
พอละเมิดตัวที่ ๒ ร้าวจนรอบ
ละเมิดตัวที่ ๓ บุบ


ใจหรือจิตซึ่งเปรียบเหมือนไข่แดง
เพราะละเมิดสิกขาบทวินัยจึงกลายเป็นไข่เน่า
ไปเดินธุดงค์กรรมฐานก็กรรมฐานไข่เน่า
เป็นนักปฏิบัติก็เป็นนักปฏิบัติไข่เน่า
ไกลต่อมรรคผลนิพพานหรือคุณงามความดี


เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า
ตัสมา สีลัง วิโสธะเย สาธุชนพึงชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์สะอาด


เสียงดังที่กล่าวมาตั้งแต่ตนจนถึงบัดนี้
เป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิตเป็นสิ่งระลึกของสติ เมื่อเรามีสติ
กำหนดรู้อยู่ที่จิตของเราเพียงอย่างเดียว เราได้ยินเสียงมีสติ มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา
เราได้ใช้เสียงเป็นอารมณ์กรรมฐาน เราได้ปฏิบัติกรรมฐานควบคู่ไปกับการฟัง
เพราะกรรมฐานนี่คือการทำจิตให้มีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก จะเป็นอะไรก็ได้
แม้แต่ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด


ถ้าเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เราได้ปฏิบัติกรรมฐานอยู่ตลอดเวลา
เมื่อเราเข้าห้องเรียนอันเป็นกิจประจำวันของเรา เมื่ออาจารย์มายืนหน้าห้อง
ท่านทำการสอน ถ้าเรามองจ้องที่ตัวอาจารย์ ส่งจิตไปรวมไว้ที่ตัวอาจารย์อย่างไม่ลดละ
ปฏิบัติต่อเนื่องกันทุกชั่วโมงที่ได้รับการสอน
ถ้าเราปฏิบัติต่อเนื่องกันไม่ขาด เมื่อเกิดความคล่องตัว ชำนิชำนาญ
เราจะรู้สึกว่าจิตและสายตาของเราจ้องอยู่ที่ตัวอาจารย์อย่างไม่ลดละ
โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ นั่นแสดงว่าสมาธิของเรากำลังเริ่มจะเกิดแล้ว
แต่ถ้าเราฝึกต่อเนื่องกันไปไม่หยุดยั้ง ภายหลังสายตาจะจ้องอยู่ที่ตัวอาจารย์
แต่ความรู้สึกทางจิตจะย้อนมาอยู่ที่ตัวเราเองมาเตรียมพร้อมอยู่ในจิต
เมื่อเป็นเช่นนั้นเมื่ออาจารย์พูดอะไรให้ฟัง พอท่านหยุดหายใจ
นักเรียน นักศึกษาคนนั้นสามารถที่จะรู้ล่วงหน้าว่าต่อไปอาจารย์จะพูดอะไร เวลาไปสอบ
อ่านคำถามจบ จิตจะวูบไปนิดหน่อยคำตอบจะผุดขึ้นมาเขียนเอาเขียนเอา
เวลาไปสอบจริง ๆ จิตจะบอกให้ดูหนังสือเล่มนั้นจากหน้านั้นไปถึงหน้านั้น
ข้อสอบจะออกที่ตรงนี้ อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติสมาธิให้ประยุกต์กับการเรียนการศึกษา


การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา
เป็นการปฏิบัติสมาธิโดยเอาเรื่องชีวิตประจำวันเป็นอารมณ์จิต ธรรมชาติของจิต
ถ้ามีอารมณ์สิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก สิ่งที่เราจะได้คือ สติมีความมั่นคง คล่องแคล่ว ว่องไว
รู้ทันเหตุการณ์ สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ให้ตกไปได้
อันนี้เป็นวิธีการทำสมาธิให้สัมพันธ์กับเรื่องชีวิตประจำวันในปัจจุบัน


ส่วนการทำสมาธิตามวิธีการ ท่านอาจารย์ผู้ให้การอบรม
ท่านจะให้เราท่องภาวนาพุทโธบ้าง ยุบหนอ-พองหนอบ้าง
สัมมาอรหังบ้าง หรือไม่ให้ท่องอะไร ก็ให้มีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก
ซึ่งเราจะได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมจากที่เราได้เคยศึกษามาแล้วจากท่านอาจารย์จันทร์ซึ่งจะทำธุระต่อไป

ประโยชน์ของการทำสมาธิ จะทำให้สุขภาพร่างกายของเราแข็งแรง
สุขภาพจิตมีความเข้มแข็ง
 
ดังนั้น ก่อนที่จะจบบรรยายนี้ ขอเดือนให้นักเรียนทุกคนจงมีสติ
กำหนดรู้จิตของตนเฉยอยู่พักหนึ่ง


แล้วในอันดับต่อไป ให้เราตั้งใจเชื่อฟังอาจารย์ผู้ให้การอบรมให้เอาใจจดจ่อ
มีสติกำหนดไว้ในจิตของตนเอง แล้วเสียงจะผ่านเข้าไปในทางหูเอง
จิตเขาจะทำหน้าที่รับรู้เอง ธรรมชาติของกายกับจิตถ้ายังมีความสัมพันธ์กันอยู่
แม้อะไรจะผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเขาย่อมทำหน้าที่รับรู้
รับรู้โดยไม่ได้ตั้งใจจะรู้ เพราะธรรมชาติเขาเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าสงสัยและข้องใจในหลักและวิธีการปฏิบัติสมาธิ
ว่าภาวนาอะไรจึงจะดีจึงจะสำเร็จได้ง่าย
ถ้าข้องใจตัดสินใจไม่ลง ในเมื่อเรานั่งสมาธิให้มีสติกำหนดรู้จิตของตนเฉยอยู่
อย่าไปตั้งใจคิดอะไรขึ้นมาแล้วสังเกตดูว่าในขณะที่เราทำจิตให้เฉยว่างอยู่นั้น
สิ่งที่ปรากฏเด่นชัดที่สุดคืออะไร คือลมหายใจ เมื่อสิ่งใดปรากฏเด่นชัด
เราตั้งใจกำหนดรู้สิ่งนั้น กำหนดรู้ด้วยอาการรู้สึกเบา ๆ
อย่าไปบังคับจิตให้สงบ อย่าไปบังคับลมหายใจให้หยาบ ละเอียด สั้น ยาว
หน้าที่ของเราเพียงแต่รู้อยู่เฉย ๆ


อันนี้คือเรามีสติกำหนดรู้ธรรมชาติของกาย การหายใจเป็นธรรมชาติของกาย
ที่ว่าธรรมชาติก็เพราะว่า ตั้งใจก็ตาม ไม่ตั้งใจก็ตาม การหายใจมีอยู่ทั้งหลับและตื่น
ทีนี้ถ้าหากว่าจิตของเราอยู่กับลมหายใจตลอดไป ปล่อยให้อยู่ไป อย่าไปรบกวน
แต่ถ้าเผลอ ๆ เขาเกิดความคิดขึ้นมาให้มีสติกำหนดรู้ความคิดทันที
ข้อนี้เราจะสังเกตได้ง่าย ถ้าหากว่าจิตมีความคิด เราตั้งสติกำหนดรู้

ถ้าเขาหยุดคิดแสดงความจิตยังไม่มีพลังงานให้กำหนดดูความว่าง
ให้จิตเดินอยู่ที่ลมหายใจ ความคิด ความว่าง ลมหายใจ ความคิด ความว่าง
แต่ความคิดอย่าไปตั้งใจคิด ให้จิตมันคิดขึ้นเอง แต่ถ้าจิตคิดขึ้นเอง ถ้าจิตมีพลังงานพอ
เรากำหนดรู้ เขาจะไม่ยอมหยุด แม้เราจะห้ามไม่ให้เขาคิดก็ห้ามไม่ได้
เขาจะต้องไปตามครรลองของเขา


ดังนั้น ในทางที่สังเกตควรจดจำไว้ในการต่อไป
หากว่าผู้ปฏิบัติสามารถทำจิตให้มีสมาธิ จิตสงบ สว่าง
รู้ตื่น เบิกบาน มีปีติ มีความสุข แล้วจิตมีความเป็นหนึ่ง นิ่ง ว่าง สว่างไสว
อยู่เฉย ๆ ถ้าสามารถทำให้บ่อย ๆ บ่อย ๆ เข้า
การทำสมาธิไปถึงจุดว่างของจิตนั้นเป็นฐานสร้างพลังงาน
เมื่อจิตสร้างพลังงานพร้อมแล้ว เขามีกำลัง เขาต้องการทำงาน


ดังนั้น ในภายหลังเราอาจกำหนดจิตปั๊ปลงไปเพราะเราจะปฏิบัติ
จิตจะมีความรู้สึกสงบวูบไปนิดหนึ่ง แล้วความคิดมันจะฟุ้ง ๆ ขึ้นมายังกับน้ำพุ
ซึ่งนักปฏิบัติทั้งหลายเข้าใจว่าจิตฟุ้งซ่าน


ดังนั้นเมื่อเราบริกรรมภาวนา ยุบหนอ-พองหนอ เป็นต้น
ถ้าหากจิตของเราทุกคนหยุดบริกรรมภาวนาไป เกิดความคิดขึ้นมา ให้มีสติกำหนดรู้
 เมื่อกำหนดรู้แล้วจิตไม่ยอมหยุดคิดปล่อยให้คิดไป ให้ท้าทายเลยว่า
แกจะคิดถึงไหน ฉันจะนั่งดูแกอยู่นี่แหละ ในเมื่อเขาคิดไป เรามีสติกำหนดรู้ รู้ รู้ เรื่อยไป
จนรู้สึกว่าความคิดก็ดี สติก็ดี จิตก็ดี
มันสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวอย่างเหมาะเจาะ พอคิดอะไรรู้ปั๊ป
คิดอะไรรู้ปั๊ป ๆ เป็นอัตโนมัติไม่เลย ปล่อยให้คิดไป แสดงความจิตของเรามีพลังงาน

เอาละ สำหรับการบรรยายในภาคต้นนี้ ได้พูดถึงเรื่องศีลที่ได้สมาทานมาแล้ว
ความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดีเป็นกิริยาแห่งความมีพุทธะอยู่ในจิต
การทรงไว้ซึ่งความรู้สึกเช่นนั้นได้ชื่อว่า ทรงไว้ซึ่งพระธรรม
การที่มีสติสังวรระวัง ตั้งใจจะกำหนดรู้อารมณ์จิต
หรือตั้งใจจะละบาป ความชั่ว ประพฤติความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดอยู่เสมอ
เป็นกิริยาแห่งพระสงฆ์ ผู้ใดมีจิตใจเช่นนั้นได้ชื่อว่ามีพระพุทธเจ้า พระธรรม
และพระสงฆ์ อยู่ในใจ เอ้า ขอยุติไว้ เพียงแค่นี้


.....สูดลมหายใจช้า ๆ เบา ๆ จนหมดแรง
เอ้า สูดเข้าไป... ปล่อยออก...  สูดเข้าไป... ปล่อยออกไป...
สูดเข้าไป... ปล่อยออกไป ... สูดเข้าไป... ปล่อยออกไป...
หายใจเป็นปกติ มีสติกำหนดรู้ลมหายใจ ให้รู้ที่ลมหายใจอย่างเดียว
ทำใจให้เฉยรู้ลมหายใจอย่างเดียว ทำความรู้สึก มีสติรู้พร้อม
นี่กายและจิตของเรา แล้วก็ค่อยขยับออกจากที่นั่งสมาธิได้ แล้วพัก.


 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner